วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555



***มะเฟือง***

นักโภชนาศาสตร์ได้วิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของมะเฟืองแล้วพบว่า อุดมไปด้วย วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซีน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันเส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็กและพลังงานในปริมาณไม่น้อยเลย

ดังนั้นคุณค่าของมะเฟืองตามสารอาหารที่พบแล้วก็จะเห็นว่า มะเฟืองหนึ่งผลนั้นสามารถที่จะช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรงควบคุมการเต้นของหัวใจให้สม่ำเสมอ ควบคุมกล้ามเนื้อ ช่วยให้เลือดแข็งต
ัวง่าย กล่อมประสาทช่วยระงับความฟุ้งซ่าน จึงช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นในผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ

ส่วนน้ำมะเฟืองคั้นนั้น ตำรายาโบราณกล่าวว่า มีสรรพคุณในการแก้ร้อนใน ดับกระหาย ลดความร้อนภายในร่างกายถอนพิษก็ได้ เป็นยาขับเสมหะ ป้องกันโรคโลหิตจาง โรคเลือดออกตามไรฟัน รวมทั้งยังช่วยขับปัสสาวะ และบรรเทาอาการนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย

****แต่ช้าก่อน.....สำหรับผู้เป็นโรคไตอยู่แล้ว ต้องอ่าน

คนไทยรู้จักมะเฟืองมานาน นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด หรือคั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือรับประทานผลดิบเป็นผัก เช่น ในอาหารเวียดนาม "ในบ้านเรามีรายงานเกี่ยวกับคนไข้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันหลังการรับประทานผลสด หรือน้ำมะเฟืองจำนวนมาก...เนื่องจากมะเฟืองเป็นพืชที่มีสารออกซาเลตสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ปกติแล้วออกซาเลตสามารถละลายและถูกดูดซึมได้อย่างอิสระ แล้วถูกขับออกทางไต โดยสาเหตุของไตวายเฉียบพลันนั้น เพราะไตเป็นแหล่งที่มีสารต่างๆ หลายชนิด เมื่อสารออกซาเลตในมะเฟืองจับตัวกับแคลเซียมที่อยู่ในไต จะกลายเป็นผลึกนิ่วออกซาเลต ผลึกนิ่วจำนวนมากตกตะกอน หรืออุดตันในเนื้อไตและท่อไต ...ทำให้ไตวายหรือสูญเสียการทำงานไป" แต่กระนั้น...การเกิดภาวะไตวายไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทาน และภาวะพร่องหรือขาดน้ำในผู้ป่วย

หน่วยโรคไต โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยพบกรณีคนไข้ในประเทศไทยมีอาการไตวายเฉียบพลัน จากการได้รับภาวะพิษจากการรับประทานผลมะเฟือง และได้ส่งรายงานไปต่างประเทศ ผู้ป่วยที่มีภาวะพิษต่อไต...เกิดขึ้นในหลายชั่วโมงถัดมา หลังรับประทานผลมะเฟือง ผู้ป่วยจะมาด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน กล่าวคืออาจจะมีปัสสาวะออกน้อยลง, บวมน้ำ, ความดันโลหิตสูงขึ้น, น้ำท่วมปอด, อ่อนเพลีย หรือ...บางรายอาจมาด้วยอาการสะอึก เนื่องจากของเสียในร่างกายคั่ง จากการที่ไตไม่สามารถขับของเสีย และน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ และ...อาจจะต้องได้รับการฟอกเลือดล้างไตในที่สุด

พบด้วยว่า ถ้ามีภาวะไตวายเฉียบพลันเกิดขึ้น หลังหยุดรับประทานมะเฟืองผู้ป่วยเดิมที่มีไตปกติ กว่าไตจะกลับมาทำงานได้ตามปกติอาจใช้เวลานาน ประมาณ 3-4 สัปดาห์ แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคไตเดิมอยู่ก่อนแล้ว การทำงานของไต อาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่กลับมาเท่าเดิม และอาจจะต้องฟอกไตถาวร

ผลการศึกษาปัจจัยการเกิดโรค พบว่าขึ้นอยู่กับชนิดมะเฟือง มะเฟืองเปรี้ยวมีโอกาสเกิดโรคมากกว่ามะเฟืองชนิดหวาน เนื่องจากมีปริมาณกรดออกซาลิคมากกว่า "ถ้ารับประทานผลสดหรือผลไม้คั้น จะมีโอกาสเกิดโรคมากกว่า แต่ถ้าผ่านการดอง หรือแปรรูปหรือเจือจางในน้ำเชื่อม เช่น...ในน้ำมะเฟืองสำเร็จรูป จะทำให้ปริมาณออกซาเลตลดน้อยลง"

ปริมาณที่รับประทาน พบว่าระดับออกซาเลต ที่เป็นพิษต่อร่างกายมีค่าตั้งแต่ 2-30 กรัมของปริมาณออกซาเลต...ผลมะเฟืองเปรี้ยวมีออกซาเลต ประมาณ 0.8 กรัม ในขณะที่มะเฟืองหวานมีออกซาเลต 0.2 กรัม สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคไตอยู่เดิมอาจมีไตวายเฉียบพลัน จากการรับประทานมะเฟืองเพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ ระดับความรุนแรงยังขึ้นอยู่กับภาวะพร่องหรือขาดน้ำ จากการรายงานผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายหลังรับประทานมะเฟือง พบว่าผู้ป่วยดื่มน้ำมะเฟืองหลังจากการทำงานหนักหรือสูญเสียเหงื่อมาก จะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น เนื่องจากผลึกแคลเซียมออกซาเลตจะอิ่มตัว และตกผลึกง่ายขึ้นในเนื้อไต

ในผู้ที่มีไตเรื้อรังอยู่ก่อนโดยเฉพาะผู้ที่ไตวายต้องล้างไตแล้ว มะเฟืองมีผลต่อระบบประสาทด้วย มีรายงานในผู้ป่วยกว่า 50 รายทั่วโลก...มะเฟืองอาจมีสารที่เป็นพิษกับระบบประสาท ซึ่งผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไปจากการที่สมองบวม จากการที่มีผลึกนิ่วออกซาเลตไปเกาะสมอง หรือการที่มะเฟืองมีสารพิษอื่นที่กระตุ้นสมอง สารพิษต่อสมองนี้จะสะสมในภาวะไตวาย ดังนั้น...การเกิดพิษลักษณะนี้พบได้น้อยมากในคนปกติ และผู้ป่วยมักต้องรับประทานผลมะเฟืองเป็นจำนวนมาก

"ผู้ป่วยไตวายอาจมีอาการทางสมองหลังรับประทานมะเฟืองทั้งชนิดหวานและชนิดเปรี้ยวเพียงหนึ่งผล อาการมักเริ่มไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานมะเฟือง โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สะอึก ตามด้วยภาวะซึมหรือชัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นหลังหยุดรับประทานมะเฟือง หลังการล้างไตเพื่อเอาพิษมะเฟืองออก...อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตหลังรับประทานมะเฟือง"

น่าสนใจที่ว่า ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ยินข่าวผู้ป่วยจากพิษมะเฟือง เป็นไปได้ว่าที่ผ่านมามะเฟืองไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก ผลผลิตมะเฟืองในแต่ละปีก็มีจำนวนไม่มากอย่างผลไม้อื่นๆ คนส่วนใหญ่จะรับประทานในปริมาณน้อย และไม่รับประทานมะเฟืองเปรี้ยว

แต่ในช่วงหลังๆ มานี้...ได้มีบทความแพร่ทางสื่อออนไลน์ชวนให้รับประทานมะเฟืองสด โดยชี้แนะประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น ลดน้ำตาลในเลือด หรือช่วยรักษาโรคอื่นๆ จึงอาจทำให้มีคนเชื่อ หันมาบริโภคมะเฟืองกันมากขึ้น

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ระบุชัดเจนถึงประโยชน์ของมะเฟือง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง มะเฟืองสดเป็นผลไม้ที่น่าจะเกิดโทษกับผู้ที่รับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายจะทำลายพิษได้และ...ขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไตวาย ผู้บริโภคสุขภาพปกติทานได้แต่ในปริมาณไม่มาก...ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตควรหลีกเลี่ยง...โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีไตเสื่อม หรือมีความเสี่ยงต่อโรคไต ห้ามทานมะเฟืองทั้งเปรี้ยวและหวานเด็ดขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น