วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

*รู้ไว้...ผื่นผิวหนังหลังแพ้ยา***

ยาที่ผลิตออกมาจำหน่าย ที่จัดเป็นยาแผนปัจจุบัน ซึ่งแพทย์ใช้รักษาคนไข้นั้น จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และคุณสมบัติทางเคมีอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนเสมอว่า ออกฤทธิ์ที่ส่วนใดของร่างกาย ฤทธิ์อยู่นานกี่ชั่วโมง ขับถ่ายทางเหงื่อ ปัสสาวะ หรืออุจจาระกี่เปอร์เซ็นต์ วันหมดอายุเมื่อใด มีผลแทรกซ้อนอะไรบ้าง ใช้ในการรักษาโรคใด ขนาดรับประทานของยาแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย รวมถึงบอกด้วยว่า ถ้ามีอาการแพ้ยาจะมีอาการอย่างไรได้บ้าง ตั้งแต่ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ง่วงนอน ผื่นคันตามตัว ปากแห้งหรือเจ็บปาก เบื่ออาหาร ท้องผูก หรือท้องเสีย ซึ่งแล้วแต่ว่าอาการใดจะเกิดขึ้นกับผู้ใด ซึ่งไม่เหมือนกันทุกคน

อาการแพ้ยาโดยมีผื่นขึ้นตามตัว ถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะมีผื่นขึ้นเกือบทั่วตัว และคันมาก อาการผื่นคันมักจะเกิดภายหลังจากรับประทานยาได้ 1-3 สัปดาห์ จะเกิดตั้งแต่รับประทานยาชนิดนั้นเป็นครั้งแรก หรือครั้งต่อๆ มาก็ได้ โดยขึ้นกับภูมิต้านทานของบุคคลนั้นเอง ในการถามประวัติการรับประทานยาจากผู้แพ้ยานั้น แพทย์มักจะประสบความยากลำบากมาก กว่าจะได้ประวัติว่าแพ้ยาชนิดใด เพราะผู้แพ้ยามักจะนึกไม่ออกว่ารับประทาน
ยา ใดเข้าสู่ร่างกายบ้าง ยาที่ทำให้แพ้ได้มีมากมาย เริ่มตั้งแต่ยาอม ยาลดน้ำหนัก ยากันบูดที่ผสมในอาหารกระป๋อง หรืออาหารพร้อมปรุงรับประทาน ยานอนหลับยาระบาย ยาดองเหล้า ยาขับประจำเดือน ยาลดไข้แก้หวัด ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาเบาหวานยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน และยาต่างๆ อีกมากมาย รวมถึงสมุนไพร อาหารเสริมและ วิตามินต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในปัจจุบันการแพ้ยาเกิดจากการแพ้สารเคมี ที่ผสมเป็นตัวยานั้นๆ

ผื่นแพ้ยามีอาการอย่างไร ?

ที่สำคัญคือ เริ่มมีผื่นแดงและคันทยอยขึ้นตามตัว เริ่มจากจุดใดก็ได้ และผื่นขึ้นค่อนข้างเร็วภายใน 1-2 วัน กระจายตามตัว มีไข้ต่ำๆ คล้ายเป็นหวัด แล้วมีอาการเฉพาะคือ อาการคันมาก ผื่นทั้งหมดเกิดภายใน 1-3 สัปดาห์ หลังจากรับประทานยาหรือสารเคมีที่ผสมลงในอาหาร อาการดังกล่าวนี้ พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาผื่นแพ้ยาทั้งหมด และผื่นจะยุบลงเมื่อหยุดยา ในรายที่ผื่นกระจายตามตัวมากมายและคันมาก จะต้องไปพบแพทย์ เพื่อรับประทานยาแก้แพ้ และแก้การอักเสบของผิวหนัง

ยังมีผื่นแพ้ยาอีกชนิด ซึ่งมักเกิดภายหลังจากรับประทานยา TETRACYCLINE หรือ SULFA คือจะมีผื่นแดง เป็นวงกลมหรือวงรี ผื่นกระจายไม่มาก ประมาณ 1-2 แห่ง เช่น ริมฝีปาก แขน เมื่อผื่นแดงยุบลงจะกลายเป็นวงกลมสีดำและติดตัวไปอีกนาน โดยไม่เหลืออาการแสบหรือคันแต่อย่างใด เมื่อผู้ป่วยบังเอิญไม่ทราบว่านี่คือผื่นแพ้ยา แล้วกลับไปรับประทานยาดังกล่าวอีก ก็จะปรากฏอาการเช่นเดิมและที่เดิมของร่างกายด้วย (FIXED DRUG ERUPTION)ภายหลังหยุดยา ผื่นจะยุบเป็นสีดำเช่นเดิม แม้จะมีอาการไม่มาก แต่ถ้าสงสัยว่าจะแพ้ยาควรให้แพทย์ดูแลและหา สาเหตุว่าแพ้ยาชนิดใด ชื่อยาอะไร จะได้ไม่รับประทานซ้ำซาก เพราะการแพ้ยาบ่อยๆ จะเกิดอาการรุนแรงมากขึ้นกว่าครั้งแรกๆ และถ้าเป็นมากอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต ลมพิษ เป็นผื่นแพ้ยาอีกชนิด มักเกิดภายหลังการรับประทานยาแอสไพรินหรือเพนนิซิลิน อาการของลมพิษ คือ เป็นผื่นเนื้อนูนสีแดง คันมาก 2-3 ชั่วโมงจะหายไปหมด แล้วขึ้นกระจายทั่วๆ ไปอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกหลายวัน
หรือเป็นแรมเดือน แม้เลิกรับประทานยาแล้ว ลมพิษก็อาจจะยังปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมีอาการ ลมพิษขึ้นกับผู้ใด จึงควรงดรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ กลุ่มแอสไพริน และใช้พาราเซตามอลแทนจะปลอดภัยกว่า

ส่วนยาเพนนิซิลินนั้น ร้านขายยามักจะจ่ายให้ในรายที่เป็นหวัด เจ็บคอเสมอ ถ้ารับประทานแล้วมีลมพิษ หรือเคยมีผื่นลมพิษในอดีต ไม่ควรเสี่ยงที่จะรับประทานยาเพนนิซิลินอีก เพราะยังมียาปฏิชีวนะอื่นๆ ใช้ทดแทนได้และอัตราการแพ้น้อยมาก เช่น อีรีโทรมัยซิน ซึ่งผลิตได้เองในประเทศไทย และราคาไม่แพงมาก

ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อต้องรับประทานยา

1. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะโอกาสจะได้รับประทานยาถูกต้องกับโรคภัยไข้เจ็บ ที่เป็นอยู่นั้นยากมากเพราะต้องทราบก่อนว่าเป็นโรคอะไร จึงจะใช้ยาได้ถูกกับโรค แพทย์จะบอกว่า เป็นโรคอะไรได้ถูกต้องแม่นยำมากกว่าพนักงานขายของต่างๆ
2. เมื่อจะกินยา ควรมีข้อมูลที่แน่นอนว่า เป็นยาชื่ออะไร หรือถ้ายังไม่ทราบชื่อ ก็จะสามารถขอทราบชื่อยาได้ภายหลังจากแพทย์หรือร้านขายย

3. เมื่อเคยแพ้ยาอะไร ต้องจดจำชื่อยาให้แม่นยำไปตลอดชีวิต และเมื่อเจ็บป่วยคราวต่อไป ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่า เคยแพ้ยาใด เพื่อจะได้จ่ายยาชนิดอื่นทดแทน เพราะถ้าไม่แจ้งแพทย์ให้ทราบอาจได้รับยาที่เคยแพ้มาก่อนและอาการแพ้ครั้งต่อไป จะรุนแรงมากกว่าครั้งแรกๆ และแก้ไขได้ลำบากขึ้นกว่าเดิม

4. เมื่อมีผื่นขึ้นตามตัว พร้อมกับมีอาการคันมาก ภายหลังจากการรับประทานยาใด 1-3 สัปดาห์ ควรหยุดยานั้นทันทีและควรพบแพทย์เพื่อการรักษาทันที

อาหารเสริมและสมุนไพรชนิดต่างๆ ประกอบด้วยสารเคมีซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อร่างกายการรับประทานจะมีผลดีพร้อมผลข้างเคียง รวมถึงอาการแพ้ โดยแสดงอาการออกทางการเป็นผื่นผิวหนัง ถ้ารุนแรงจะแสดงอาการทางอวัยวะในร่างกายด้วย ยกตัวอย่างว่า การรับประทานขี้เหล็กในรูปสมุนไพร ติดต่อกันปริมาณมากและนาน ทำให้เกิดอาการตับอักเสบได้

การรับประทานอาหารที่มีคุณภาพดี มีคุณค่าทางอาหาร ไม่รับประทานอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด หมั่นออกกำลังกาย บริหารจิตใจให้เข้มแข็ง จะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ตามสมควร เจ็บป่วยน้อยลง และไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแผนปัจจุบัน ยาจีน สมุนไพร และอาหารเสริมต่างๆ โดยถือตามกระแสนิยมและการโฆษณา รวมทั้งการขายตรง ต้องบริโภคสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างมีสติจะเป็นการปลอดภัย และไม่ล่อแหลมต่อการแพ้ยาด้วย

ที่มา : นิตยสารใกล้หมอ/พญ.เยาวเรศ นาคแจ้ง/สาระแห่งสุขภาพ
ช่วงหน้าแล้ง แดดจัด ลมแรง ฝุ่นมาก ตัวการนำไปสู่ต้อลม ต้อเนื้อครับ

ต้อเนื้อและต้อลม
เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยมาก แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแบบต้อหินและต้อกระจก ต้อเนื้อเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของเยื่อบุตา (ตาขาว) มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อสีแดงๆ รูปสามเหลี่ยมงอกจากเยื่อบุตาลามเข้าไปบนกระจกตา (ตาดำ) มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา ต้อเนื้อจะค่อยๆ โตอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่มักเป็นนานร่วมสิบปีจึงจะรู้สึกว่าเป็นมากขึ้น ถ้าเป็นมากจะลามเข้าถึงกลางกระจกตาปิดบังการมองเห็นบางส่วน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวได
ต้อลมเป็นโรคในกลุ่มเดียวกับต้อเนื้อแต่เป็นน้อยกว่า มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก นูน สีขาว หรือเหลืองอยู่ข้างๆ กระจกตา แต่ไม่ได้ลุกลามไปบนกระจกตา
ต้อเนื้อและต้อลมอาจมีการอักเสบได้ ทำให้เยื่อบุตาบริเวณนั้นแดง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บตาและเคืองตา

สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเนื้อและต้อลม
ต้อเนื้อและต้อลม เกิดจากการที่ตาได้รับรังสีอุลตราไวโอเลตจากแสงแดดเป็นเวลานานร่วมกับการโดนฝุ่นละออง ควัน ลม ความแห้งแล้ง อากาศร้อนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา โรคนี้จึงมักเกิดกับผู้ที่อยู่ในเขตร้อนและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง มีหลายคนเข้าใจผิดว่าต้อเนื้อเกิดจากการรับประทานเนื้อ จึงป้องกันโดยการไม่รับประทานเนื้อ เพราะกลัวว่าจะทำให้เป็นมากขึ้นซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะโรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอาหารที่รับประทาน คำว่า “เนื้อ” ในที่นี้มาจากลักษณะของโรคที่เห็นเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา

อาการ
ผู้ที่เป็นต้อเนื้อและต้อลม จะมีอาการเคืองตา แสบตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่กลางแจ้ง โดนแดด โดนลม ในผู้ที่เป็นน้อยมักไม่มีอาการผิดปกติ โดยทั่วไปต้อเนื้อและต้อลมจะไม่ทำให้เกิดอาการตามัว ยกเว้นในรายที่ต้อเนื้อเป็นมากจนลามเข้ามากลางกระจกตา บังการมองเห็นจึงจะมีอาการตามัว

การรักษา
• ใส่แว่นกันแดด ในเวลาที่ออกกลางแจ้งเพื่อลดอาการต่างๆ ทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น
• ต้อลมและต้อเนื้อที่เป็นไม่มาก ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องรักษา สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้โดยไม่มีอันตราย
• ให้ยาหยอดตา ผู้ที่เป็นต้อลมและต้อเนื้อถ้ามีอาการเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาและทำให้ตาไม่แดง แต่ยาหยอดตาไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อและต้อลมหายไปได้
• การผ่าตัด ในผู้ที่เป็นต้อเนื้อซึ่งลุกลามเข้าไปบนกระจกตาขนาดพอสมควร แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นน้อยก็ไม่จำเป็นต้องทำผ่าตัด ส่วนต้อลมนั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกเพราะเป็นเพียงก้อนเนื้อขนาดเล็กๆ ที่ไม่มีอันตรายต่อตา

ที่มา ร พ. จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
"โรคความดันโลหิตต่ำ ภัยร้ายที่ไม่อาจมองข้าม"

มักมีอาการวิงเวียนหน้ามืด อ่อนเพลีย แม้ว่านอนหลับและทานอาหารได้ดี

เป็นที่ทราบกันว่าโรคความดันโลหิตสูงนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง จึงทำให้ผู้คนเอาใจใส่และให้ความสำคัญทว่าภัยของโรคความดันโลหิตต่ำนั้นคนทั่วไปมักไม่รู้เท่าทัน เรามักจะพบผู้ป่วยที่มีอาการวิงเวียนหน้ามืด อ่อนเพลีย ไม่สดชื่นแม้ว่านอนหลับและทานอาหารได้ดีตามปกติ อีกทั้งยังเสริมอาหารและวิตามินบำรุงร่างกายอย่างเต็มที่ ส่วนด้านการงานก็ไม่ได้เหน็ดเหนื่อยและไม่มีความกดดัน ทว่ายังคงรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง โดยเฉพาะหลักจากรับประทานอาหารมือกลางวันแล้วจะรู้สึกง่วงซึม เรี่ยวแรงหดหาย นั่งฟุบโต๊ะหาวหวอดๆ จนน้ำหูน้ำตาไหล ไม่มีสมาธิในการทำงานยิ่งไปกว่านั้นอาจมีอาการใจสั่น ขี้หนาว ในขณะที่เพื่อนร่วมงานล้วนคิดว่าอุณหภูมิจากเครื่องปรับอากาศกำลังพอเหมาะแต่ตนเองกลับรู้สึกว่าช่างหนาวเย็นจับใจจนต้องสวมเสื้อคลุมทับ แต่พอไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลกลับไม่พบความผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรตรวจวัดความดันโลหิตเพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าอาการที่เกิดขึ้นจะเป็นผลมาจากความดันโลหิตต่ำ

อย่างไรถึงเข้าข่ายความดันโลหิตต่ำ

โดยทั่วไปในทางการแพทย์ ความดันโลหิตของผู้ใหญ่ที่ต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท (MmHg) และความดันโลหิตของผู้สูงอายุที่ต่ำกว่า 100/70 มิลลิเมตรปรอท (MmHg) จะถูกจัดว่าเข้าข่ายความดันโลหิตต่ำ ซึ่งจะพบบ่อยในสตรีที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นความดันโลหิตต่ำ

ความดันโลหิตต่ำมีชนิดใดบ้าง...

ความดันโลหิตต่ำแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง โดยความดันโลหิตต่ำชนิดเฉียลพลันหมายถึงว่า ความดันโลหิตต่ำลงอย่างฮวบฮาบจากเกณฑ์ปกติ ซึ่งจะแสดงอาการหลัก ๆ คือ หน้ามืดและช็อคหมดสติ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นลมหรือหัวใจล้มเหลว แต่ภาวะความดันโลหิตต่ำที่เราพูดถึงกันโดยทั่วไปนั้นหายถึงความดันโลหิตต่ำชนิดเรื้อรัง ซึ่งแบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้

1.ความดันโลหิตต่ำที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือไม่ทราบสาเหตุ: ส่วนใหญ่พบว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือรูปร่างที่อ่อนแอผอมบาง ซึ่งมักจะพบในหญิงสาวรูปร่างผอมเพรียวและผู้สูงอายุ บางรายไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใด ๆ แต่ในรายที่เป็นมากอาจจะมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใจสั่น วิงเวียน ศีรษะ ปวดศีรษะหรืออาจจะถึงขั้นเป็นลม โดยเฉพาะในหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงอาการจะยิ่งชัดเจนขึ้

2.ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถ: หมายถึงความดันโลหิตจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนท่าทางจากการนอนมาเป็นการนั่งหรือยืนในทันที หรือมีการยืนนาน ๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติจนเกิดอาการเวียนศีรษะ ตาพร่า คลื่นไส้ ใจสั่น ปวดต้นคอ ปวดหลังฯลฯ

3.ความดันโลหิตต่ำจากการใช้ยาหรือการเจ็บป่วยของร่างกาย: เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ วัณโรค โรคหัวใจรูมาติก ขาดสารอาหารเรื้อรัง ยาลดความดันโลหิต ยากกล่อมประสาท ยาต้านโรคซึมเศร้า เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงใช้ยาความดันมากเกินขนาดเพื่อให้ความดันโลหิตต่ำลงโดยเร็วและลดต่ำลงมากยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างเฉียบพลันหลังปัสสาวะ เนื่องจากปัสสาวะถูกขับออกไปทำให้ความดันในช่องท้องลดต่อลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่กลับไปสู่หัวใจลดน้อยลงด้วย ทำให้เกิดอาการเป็นลมเนื่องจากความดันโลหิตต่ำลงอย่างเฉียบพลันซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้สูงอายุตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึง

โรคความดันโลหิตต่ำมีอาการอย่างไร

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำบางรายจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใด ๆ แต่บางรายจะมีอาการหูอื้อ ปวดศีรษะ ตาลาย ปวดหลังและบั้นเอว มือเท้าเย็น อ่อนเพลีย สมองล้า ขี้หลงขี้ลืม ขาดสมาธิ หรือรู้สึกว่าสมองถูกบีบคั้น ปวดแสบปวดร้อน หรือท้องเดิน ท้องผูก มีแก๊สสะสมในลำไส้ ท้องอืดท้องเฟ้อ อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ฯลฯ

อันตรายจากความดันโลหิตต่ำไม่อาจมองข้ามได้

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าความดันโลหิตและไขมันในเลือดนั้นเหมือนกันคือยิ่งต่ำยิ่งดี ทว่าแม้จะต่ำก็ต้องมีขีดจำกัด หากความดันโลหิตต่ำเกินไปย่อมส่งผลร้ายต่อร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนช้าลง เลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ง่ายต่อการเกิดลิ่มเลือดทำให้หลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือดฝอยส่วนปลายในร่างกายขาดเลือดไปเลี้ยง รวมท้งเกิดการคั่วของคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียจากกระบวนการเมตาบอลิซึมและที่สำคัยคือ อาจจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสมองเนื่องจากขาดออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ขี้หลงขี้ลืมสมองล้า ไม่มีสมาธิฯลฯ หากไม่มีการบำบัดอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายลดลง ความสามารถในกาองมองเห็นและการได้ยินลดลง อ่อนเพลียซึมเศร้าก่อให้เกิดอาการอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุหรือเป็นตัวเร่งอาการให้หนักขึ้นหรืออาจส่งผลให้หกล้มเนื่องจากเป็นลม ทำให้กระดูกหักได้ อีกทั้งเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วย

การแพทย์จีนมีวิธีบำบัดโรคความดันโลหิตต่ำอย่างไร...

การแทพย์จีนได้จัดโรคความดันโลหิตต่ำให้อยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการพร่องลงของพลังซี่และเลือดในร่างกายหรือที่เรียกว่าชี่พร่อง-เลือดพร่องนั่นเอง เลือดกับพลังชี่มีคุณสมบัติต่างกันคือ เลือดเป็นหยินชอบอยู่นิ่งและให้ความชุ่มชื้น ส่วนพลังชี่เนหยางชอบความเคลื่อนไหวและให้ความอบอุ่น ความสัมพันธ์ของเลือดกับพลังชี่แท้ที่จริงแล้วก็คือความสัมพันธ์ของหยิน-หยางในระบบการไหลเวียนของเลือดนั่นเอ

-เลือดกับพลังชี่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน; กระบวนการเกิดและการสร้างเลือดต้องอาศัยพลังชี่และการเคลื่อนไหวของพลังชี่ ถ้าพลังชี่สมบูรณ์ เลือดก็จะสร้างขึ้นมาได้อย่างเพียงพอ และในทางกลับกันพลังชี่ก็ต้องอาศัยเลือดไปหล่อเลี้ยงและให้ความชุ่มชื้น การไหลเวียนของเลือดจะนำพาพลังชี่ไปสู่ทุก ๆ เซลล์ของร่างกาย ถ้าเลือดพร่องลง พลังชี่ก็จะพร่องตามไปด้วย ทำให้ชี่พร่องและเลือดพร่องมักจะเกิดขึ้นร่วมกันอยู่เสมอ

-พลังชี่ผลักดันการไหวเวียนของเลือด: เลือดเป็นหยินชอบอยู่นิ่งไม่สามารถไหลเวียนได้เองต้องอาศัยแรงผลักดันจากพลังชี่ จึงกล่าวได้ว่า พลังวิ่งเลือดเดิน พลังนิ่งเลือดหยุด ถ้าพลังชี่พร่องลง เลือดก็จะไหลเวียนช้าลง ทำให้ชี่และเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกายอย่างทั่วถึงส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ อวัยวะต่าง ๆ ได้รับการหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอจนเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้

การแพทย์แผนจีนจึงนิยมให้วิธีบำรุงชี่-บำรุงเลือดเพื่อบำบัดภาวะความดันโลหิตต่ำ เมื่อชี่-เลือดในร่างกายสมบูรณ์ขึ้น ความดันโลหิตก็จะค่อย ๆ กลับสู่ภาวะปกติอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคความดันโลหิตต่ำก็จะทุเลาลงหรือหายไปในที่สุด

วิธีการดูแลร่างกายสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ

1.วัดความดัน: หมั่นวัดระดับความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตในร่างกาย

2.พักผ่อนให้เพียงพอ: ความเหน็ดเหนื่อย การนอนหลับไม่เพียงพอต่างก็ยิ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำลงดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการตรากตรำทำงานเกินควร หลีกเลี่ยงการนอนดึก และเวลานอนหลับไม่ควรนอนหนุนหมอนที่ต่ำเกินไป

3.หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ หรือเปลี่ยนอิริยาบทอย่างรวดเร็วเกินไป: การเก็บของไม่ควรก้มศีรษะลงโดยตรงแต่ควรทรุดตัวนั่งยอง ๆ ลงก่อน ยามตื่นนอนไม่ควรลุกยืนขึ้นมาในทันทีทันใด แต่ควรรอให้แน่ใจว่าร่างกายเข้าที่เข้าทางแล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้น

4.ใส่ใจสภาพแวดล้อมและการแต่งกาย: ไม่ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศร้อนอบอ้าวนานเกินไป เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตต่ำลง นอกจากนี้การผูกเน็คไทแน่นเกินไป การสวมเสื้อที่มีปกเสื้อสูงหรือคอเสื้อแคบเกินไปอาจจะไปกดทับหลอดเลือดแดงบริเวณต้นคอส่งผลให้ความดันต่ำลงจนหน้ามืดเป็นลมได้

5.เพิ่มสารอาหารให้เพียงพอ: ผู้ที่มีแนวโน้มเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำนั้น หากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตยิ่งต่ำลงไปอีก แต่หากเสริมอาหารให้เพียงพอจะช่วยให้ความดันโลหิตเข้าใกล้ระดับปกติมากยิ่งขึ้นอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ก็มีโอกาสที่จะลดลงหรือหายไปได้
6.ลดการรับปรทานอาหารที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง: เช่น เชลเลอรี ฟักเขียว ถั่วเขียว มะระ หอมหัวใหญ่ สาหร่ายทะเล หัวไชเท้า เป็นต้น

7.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: การออกกำลังกายทำให้ระบบประสาทเกิดความสมดุล หลอดเลือดหัวใจแข็งแรงทั้งยังรักษาความดันโลหิตต่ำให้ดีขึ้น

8.เลือกประเภทการออกกำลังอย่างเหมาะสม: ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบท ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่ต้องยืนนาน ๆ หรือต้องเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ ส่วนผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายก่อนการออกกำลังควรตรวจสอบสมรรถภาพร่างกายก่อนทางที่ดีควรออกกำลังภายใต้คำแนะนำของแพทย์และครูผู้เชี่ยวชาญ

9.ใช้ยาอย่างระมัดระวัง: หากต้องไปพบแพทย์เนื่องจากอาการเจ็บป่วยใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าว่าตนมีอาการความดันโลหิตต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงไปอีก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก