*รู้ไว้...ผื่นผิวหนังหลังแพ้ยา***ยาที่ผลิตออกมาจำหน่าย ที่จัดเป็นยาแผนปัจจุบัน ซึ่งแพทย์ใช้รักษาคนไข้นั้น จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และคุณสมบัติทางเคมีอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนเสมอว่า ออกฤทธิ์ที่ส่วนใดของร่างกาย ฤทธิ์อยู่นานกี่ชั่วโมง ขับถ่ายทางเหงื่อ ปัสสาวะ หรืออุจจาระกี่เปอร์เซ็นต์ วันหมดอายุเมื่อใด มีผลแทรกซ้อนอะไรบ้าง ใช้ในการรักษาโรคใด ขนาดรับประทานของยาแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย รวมถึงบอกด้วยว่า ถ้ามีอาการแพ้ยาจะมีอาการอย่างไรได้บ้าง ตั้งแต่ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ง่วงนอน ผื่นคันตามตัว ปากแห้งหรือเจ็บปาก เบื่ออาหาร ท้องผูก หรือท้องเสีย ซึ่งแล้วแต่ว่าอาการใดจะเกิดขึ้นกับผู้ใด ซึ่งไม่เหมือนกันทุกคน
อาการแพ้ยาโดยมีผื่นขึ้นตามตัว ถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะมีผื่นขึ้นเกือบทั่วตัว และคันมาก อาการผื่นคันมักจะเกิดภายหลังจากรับประทานยาได้ 1-3 สัปดาห์ จะเกิดตั้งแต่รับประทานยาชนิดนั้นเป็นครั้งแรก หรือครั้งต่อๆ มาก็ได้ โดยขึ้นกับภูมิต้านทานของบุคคลนั้นเอง ในการถามประวัติการรับประทานยาจากผู้แพ้ยานั้น แพทย์มักจะประสบความยากลำบากมาก กว่าจะได้ประวัติว่าแพ้ยาชนิดใด เพราะผู้แพ้ยามักจะนึกไม่ออกว่ารับประทาน
ยา ใดเข้าสู่ร่างกายบ้าง ยาที่ทำให้แพ้ได้มีมากมาย เริ่มตั้งแต่ยาอม ยาลดน้ำหนัก ยากันบูดที่ผสมในอาหารกระป๋อง หรืออาหารพร้อมปรุงรับประทาน ยานอนหลับยาระบาย ยาดองเหล้า ยาขับประจำเดือน ยาลดไข้แก้หวัด ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาเบาหวานยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน และยาต่างๆ อีกมากมาย รวมถึงสมุนไพร อาหารเสริมและ วิตามินต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในปัจจุบันการแพ้ยาเกิดจากการแพ้สารเคมี ที่ผสมเป็นตัวยานั้นๆ
ผื่นแพ้ยามีอาการอย่างไร ?
ที่สำคัญคือ เริ่มมีผื่นแดงและคันทยอยขึ้นตามตัว เริ่มจากจุดใดก็ได้ และผื่นขึ้นค่อนข้างเร็วภายใน 1-2 วัน กระจายตามตัว มีไข้ต่ำๆ คล้ายเป็นหวัด แล้วมีอาการเฉพาะคือ อาการคันมาก ผื่นทั้งหมดเกิดภายใน 1-3 สัปดาห์ หลังจากรับประทานยาหรือสารเคมีที่ผสมลงในอาหาร อาการดังกล่าวนี้ พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาผื่นแพ้ยาทั้งหมด และผื่นจะยุบลงเมื่อหยุดยา ในรายที่ผื่นกระจายตามตัวมากมายและคันมาก จะต้องไปพบแพทย์ เพื่อรับประทานยาแก้แพ้ และแก้การอักเสบของผิวหนัง
ยังมีผื่นแพ้ยาอีกชนิด ซึ่งมักเกิดภายหลังจากรับประทานยา TETRACYCLINE หรือ SULFA คือจะมีผื่นแดง เป็นวงกลมหรือวงรี ผื่นกระจายไม่มาก ประมาณ 1-2 แห่ง เช่น ริมฝีปาก แขน เมื่อผื่นแดงยุบลงจะกลายเป็นวงกลมสีดำและติดตัวไปอีกนาน โดยไม่เหลืออาการแสบหรือคันแต่อย่างใด เมื่อผู้ป่วยบังเอิญไม่ทราบว่านี่คือผื่นแพ้ยา แล้วกลับไปรับประทานยาดังกล่าวอีก ก็จะปรากฏอาการเช่นเดิมและที่เดิมของร่างกายด้วย (FIXED DRUG ERUPTION)ภายหลังหยุดยา ผื่นจะยุบเป็นสีดำเช่นเดิม แม้จะมีอาการไม่มาก แต่ถ้าสงสัยว่าจะแพ้ยาควรให้แพทย์ดูแลและหา สาเหตุว่าแพ้ยาชนิดใด ชื่อยาอะไร จะได้ไม่รับประทานซ้ำซาก เพราะการแพ้ยาบ่อยๆ จะเกิดอาการรุนแรงมากขึ้นกว่าครั้งแรกๆ และถ้าเป็นมากอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต ลมพิษ เป็นผื่นแพ้ยาอีกชนิด มักเกิดภายหลังการรับประทานยาแอสไพรินหรือเพนนิซิลิน อาการของลมพิษ คือ เป็นผื่นเนื้อนูนสีแดง คันมาก 2-3 ชั่วโมงจะหายไปหมด แล้วขึ้นกระจายทั่วๆ ไปอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกหลายวัน
หรือเป็นแรมเดือน แม้เลิกรับประทานยาแล้ว ลมพิษก็อาจจะยังปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมีอาการ ลมพิษขึ้นกับผู้ใด จึงควรงดรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ กลุ่มแอสไพริน และใช้พาราเซตามอลแทนจะปลอดภัยกว่า
ส่วนยาเพนนิซิลินนั้น ร้านขายยามักจะจ่ายให้ในรายที่เป็นหวัด เจ็บคอเสมอ ถ้ารับประทานแล้วมีลมพิษ หรือเคยมีผื่นลมพิษในอดีต ไม่ควรเสี่ยงที่จะรับประทานยาเพนนิซิลินอีก เพราะยังมียาปฏิชีวนะอื่นๆ ใช้ทดแทนได้และอัตราการแพ้น้อยมาก เช่น อีรีโทรมัยซิน ซึ่งผลิตได้เองในประเทศไทย และราคาไม่แพงมาก
ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อต้องรับประทานยา
1. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะโอกาสจะได้รับประทานยาถูกต้องกับโรคภัยไข้เจ็บ ที่เป็นอยู่นั้นยากมากเพราะต้องทราบก่อนว่าเป็นโรคอะไร จึงจะใช้ยาได้ถูกกับโรค แพทย์จะบอกว่า เป็นโรคอะไรได้ถูกต้องแม่นยำมากกว่าพนักงานขายของต่างๆ
2. เมื่อจะกินยา ควรมีข้อมูลที่แน่นอนว่า เป็นยาชื่ออะไร หรือถ้ายังไม่ทราบชื่อ ก็จะสามารถขอทราบชื่อยาได้ภายหลังจากแพทย์หรือร้านขายยา
3. เมื่อเคยแพ้ยาอะไร ต้องจดจำชื่อยาให้แม่นยำไปตลอดชีวิต และเมื่อเจ็บป่วยคราวต่อไป ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่า เคยแพ้ยาใด เพื่อจะได้จ่ายยาชนิดอื่นทดแทน เพราะถ้าไม่แจ้งแพทย์ให้ทราบอาจได้รับยาที่เคยแพ้มาก่อนและอาการแพ้ครั้งต่อไป จะรุนแรงมากกว่าครั้งแรกๆ และแก้ไขได้ลำบากขึ้นกว่าเดิม
4. เมื่อมีผื่นขึ้นตามตัว พร้อมกับมีอาการคันมาก ภายหลังจากการรับประทานยาใด 1-3 สัปดาห์ ควรหยุดยานั้นทันทีและควรพบแพทย์เพื่อการรักษาทันที
อาหารเสริมและสมุนไพรชนิดต่างๆ ประกอบด้วยสารเคมีซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อร่างกายการรับประทานจะมีผลดีพร้อมผลข้างเคียง รวมถึงอาการแพ้ โดยแสดงอาการออกทางการเป็นผื่นผิวหนัง ถ้ารุนแรงจะแสดงอาการทางอวัยวะในร่างกายด้วย ยกตัวอย่างว่า การรับประทานขี้เหล็กในรูปสมุนไพร ติดต่อกันปริมาณมากและนาน ทำให้เกิดอาการตับอักเสบได้
การรับประทานอาหารที่มีคุณภาพดี มีคุณค่าทางอาหาร ไม่รับประทานอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด หมั่นออกกำลังกาย บริหารจิตใจให้เข้มแข็ง จะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ตามสมควร เจ็บป่วยน้อยลง และไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแผนปัจจุบัน ยาจีน สมุนไพร และอาหารเสริมต่างๆ โดยถือตามกระแสนิยมและการโฆษณา รวมทั้งการขายตรง ต้องบริโภคสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างมีสติจะเป็นการปลอดภัย และไม่ล่อแหลมต่อการแพ้ยาด้วย
ที่มา : นิตยสารใกล้หมอ/พญ.เยาวเรศ นาคแจ้ง/สาระแห่งสุขภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น