***เก๊าท์ โรคที่ทรมาน***
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ คือปัจจัยทางกรรมพันธุ์และภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดกรดยูริคสูงในเลือดซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการได้รับกรดยูริคหรือสารพิวรีนเข้าไปมากหรือมีการสลายของคลีโอโปรตีนซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์มาก หรือกรดยูริคที่มีอยู่ไม่สามารถถูกขับถ่ายออกมาทางไตได้ตามปกติ ทำให้กรดยูริคคั่งอยู่ในเลือดมากเกิดภาวะยูริคสูงในเลือด
อาการของโรคเก๊าท์
ระยะแรก มักมีอาการปวดรุนแรงอย่างทันทีทันใดมักพบในอาการปวดที่หัวแม่เท้า หัวเข่า หรือข้อเท้าก่อน อาการมักเกิดขึ้นภายหลังจากการกินอาหารที่มีแคลอรี่สูงมากๆ การดื่มเหล้ามาก หรือการสวมรองเท้าที่คับ บริเวณผิวหนังตรงที่ข้อที่อักเสบตึงร้อนเป็นมัน ผู้ป่วยมักมีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลียมีเม็ดเลือดขาวสูงอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 2-3 วัน และหายไปเองในระยะ 5-7 วัน
ระยะพัก เป็นระยะที่ไม่มีอาการแสดงแต่กรดยูริคในเลือดมักสูง และอาการอักเสบอาจเกิดขึ้นอีกจนถึงขั้นเรื้อรังอาจมีอาการเป็นระยะเนื่องจากผลึกยูเรตเ)้นจำนวนมากสะสมอยู่ในข้อกระดูก เยื่ออ่อนของข้อต่อ และบริเวณเส้นเอ็นทำให้เกิดโรคกระดูกเสื่อม เมื่อเป็นมากจะมีการสะสมของผลึกนี้เยื่อบุภายในปลอกหุ้มข้อและเกิดปุ่มขึ้นที่ใต้ผิวหนังมักเริ่มที่หัวแม่เท้าและปลายหูก่อนข้อที่มีผลึกยูเรตเกาะอยู่ อาจเปลี่ยนแปลงจนผิดรูปและเกิดความพิการที่ข้อกระดูกนั้น ๆ
อาการแทรกซ้อน
พบว่าร้อยละ 25 ของผู้ป่วยข้ออักเสบเฉียบพลันจากเก๊าท์มักมีนิ่วในไตด้วย ผลึกยูเรตอาจจะสะสมอยู่ในส่วนกรวยไตทำให้มีอาการเลือดออกทางปัสสาวะ ถ้ามีการสะสมในไตมาก ๆ จะขัดขวางการทำงานของไตหรือทำลายเนื้อไตทำให้เกิดภาวะไตล้มเหลว
การควบคุมอาหาร เนื่องจาก กรดยูริคจะได้จากการเผาผลาญสารพิวรีน ดังนั้น ในการรักษาโรคเก๊าท์ จึงต้องควบคุมสารพิวรีนในอาหารด้วย อาหารที่มีพวรีน อาจแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
อาหารที่มีสารพิวรีนน้อย ( 0-50 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม)
1.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 2.ไข่ 3.ธัญญพืชต่าง ๆ 4.ผักต่าง ๆ 5.ผลไม้ต่าง ๆ 6.น้ำตาล
7.ผลไม้เปลือกแข็ง(ทุกชนิด) 8.ไขมัน
อาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง (50-150 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม)
1.เนื้อหมู 2.เนื้อวัว 3.ปลากระพงแดง 4.ปลาหมึก 5.ปู 6.ถั่วลิสง 7.ใบขี้เหล็ก
8.สะตอ 9.ข้าวโอ๊ต 10.ผักโขม 11.เมล็ดถั่วลันเตา 12.หน่อไม้
อาหารที่มีพิวรีนสูง (150 มิลลิกรัมขึ้นไป) * อาหารที่ควรงด*
1.หัวใจไก่ 2.ไข่ปลา 3.ตับไก่ 4.มันสมองวัว 5.กึ๋นไก่ 6.หอย 7.เซ่งจี้(หมู) 8.ห่าน 9.ตับหมู 10.น้ำต้มกระดูก 11.ปลาดุก 12.ยีสต์ 13.เนื้อไก่,เป็ด 14.ซุปก้อน 15.กุ้งชีแฮ้ 16.น้ำซุปต่าง ๆ 17.น้ำสกัดเนื้อ 18.ปลาไส้ตัน 19.ถั่วดำ 20.ปลาขนาดเล็ก 21.ถั่วแดง 22.เห็ด 23.ถั่วเขียว 24.กระถิน 25.ถั่วเหลือง 26.ตับอ่อน 27.ชะอม 28.ปลาอินทรีย์ 29.กะปิ 30.ปลาซาดีนกระป๋อง
ข้อแนะนำกว้าง ๆ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อหรือโรคเก๊าท์
1. ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน อาหารรสเปรี้ยวจัด เช่น โยเกิร์ต รวมทั้งเหล้าและของมึนเมาต่าง ๆ
อาหารที่บำรุงมาก ๆ อย่างเช่น เนื้อสัตว์ อาหารมัน ถ้ากินเข้าไปมาก ๆ โดยเฉพาะ ในยามที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี กินเข้าไปแล้วแทนที่จะเป็นคุณกลับให้โทษแทน วิธีดูว่า ระบบย่อยอาหาร ทำงานปกติหรือไม่ ให้สังเกตว่า เราเจริญอาหาร หรือมีความอยากอาหาร ดีหรือไม่เมื่อถึงเวลาอาหาร ถ้ารู้สึกเบื่ออาหาร ก็แสดงว่า ระบบย่อยอาหารไม่เป็นปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่า ขณะนี้ร่างกายไม่ต้องการอาหารหรอกนะ
ช่วงเวลาอย่างนี้ หากไม่รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ก็ไม่จำเป็นต้องกินอาหาร อดสักมื้อหนึ่งไม่น่าจะเกิดอันตรายอะไร ถ้าจะกินอาหารก็ควรกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มใส่น้ำมาก ๆ อาจเติมขิงซอย พริกไทยลงไปบ้างเพื่อช่วยย่อย
อาหารที่แนะนำให้รับประทาน ได้แก่ ข้าวหุงจากข้าวสารเก่า ข้าวสาลี (ทั้งสองอย่างควรเป็นข้าวที่ไม่ขัดขาว) ถั่วเขียว น้ำต้มเนื้อ กระเทียม หัวหอม มะระ มะละกอ กล้วย
ที่สำคัญอีกอย่างคือ อาหารมื้อเย็นควรกินแต่หัวค่ำ กะเวลาให้ห่าง จากเวลาเข้านอน สักสองชั่วโมงเป็นอย่างน้อย อาหารมื้อเย็นควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย
2. ระวังอย่าให้ท้องผูก ถ้าหากมีอาการท้องผูก ขอแนะนำให้ใช้สมุนไพร ที่เป็นยาระบายอ่อน ๆ เช่น เนื้อลูกสมอไทยบดผง กินครั้งละ 1-2 ช้อนชา กับน้ำอุ่น ก่อนนอน
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับความเย็น ไม่ควรอาบน้ำเย็นจัด
4. ควรออกกำลังกายบ้าง เช่น เดินเล่นในสวน ฝึกโยคะ บริหารร่างกายเบา ๆ แต่ไม่ควรออกกำลังกาย อย่างหักโหม เพราะคนที่มีปัญหาเรื่องข้อ ปกติข้อไม่แข็งแรงอยู่แล้ว การออกกำลังหักโหม จะกลายเป็นการซ้ำเติม ทำให้ข้อเสื่อมลงอีก
5. ไม่ควรนอนตอนกลางวัน ยกเว้นในฤดูร้อนซึ่งร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย หากงีบหลับบ้างก็ไม่เป็นไร เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัว
นอกจากเรื่องอาหารและการปฏิบัติตัวที่ว่ามาตอนต้นแล้ว จะขอแนะนำ ตำรับยาสมุนไพรง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
- เถาบอระเพ็ด เหง้าขิงแห้ง ลูกผักชี หนักอย่างละ ๒๐ กรัม ล้างให้สะอาด เถาบอระเพ็ดและขิงแห้งควรสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาทั้งสามอย่างต้มกับน้ำ ๕ แก้ว ต้มให้เหลือหนึ่งแก้วครึ่ง แล้วกรองเอาแต่น้ำยา แบ่งกินครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น หรือกินครั้งละ ๓/๔ แก้ว เช้า เย็น ก็ได้ถ้าไม่สะดวกกินยาตอนกลางวัน ก่อนกินยาให้อุ่นยาก่อนทุกครั้ง
ยาตำรับนี้จะช่วยย่อยสลายส่วนเกินที่ไปขังสะสมอยู่ตามข้อ ทำให้เลือดลม ไหลเวียนสะดวกขึ้น อาการปวดก็จะลดลง
- ถ้ามีอาการปวดข้อ เช่น ข้อเข่า ให้ใช้เมล็ดงาดำ ตำให้แหลก คั่วโดยใส่น้ำมันงาเล็กน้อย แล้วเติมนมสด กะให้พอคลุกกับเมล็ดงาที่ตำแล้ว ได้เป็นยาพอกเละ ๆ เอามาพอกตามข้อที่ปวด หรือจะเด็ดใบมะรุม มาตำโดยผสมน้ำคั้นจากใบมะขาม ตำให้แหลก ทำเป็นยาพอก ตามข้อที่ปวด ก็ใช้ได้เช่นกัน
การพอก หรือประคบในลักษณะนี้ จะช่วยลดอาการปวดข้อโดยตรง ทั้งยังช่วยบำรุงข้อ บำรุงกระดูกด้วย
ข้อแนะนำที่กล่าวมาข้างต้น เป็นหลักการปฏิบัติกว้าง ๆ เพื่อควบคุม และบรรเทาอาการของโรค คงไม่ได้มุ่งที่การรักษาโดยตรง เนื่องจาก โรคเก๊าท์เป็นโรคที่เรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคนี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาจากหมอโดยใกล้ชิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น